การสร้างสตาร์ทอัพ#1 : ค้นหาไอเดียในการสร้างสตาร์ทอัพ (Startup)

DINOQ Co.,Ltd
5 min readSep 30, 2018

DinoQ , 2018/09 ( info@dinoq.com )

ในบทความบทที่ 2 นี้จะนำเสนอ วิธีการที่จะค้นหาไอเดียในการสร้างสตาร์ทอัพ ว่าจะมีแบบใหนบ้าง การนำนวัตกรรมมาผลักดันธุรกิจ รวมถึงแสดงให้เห็นถึงรูปแบบโมเดลของธุรกิจแบบต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดหรือ สร้างธุรกิจของผู้อ่านเองได้

อันดับแรกต้องรู้ความหมายมันก่อน “นวัตกรรม” ในคำแปลของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ก็จะได้ว่า

นวัตกรรม เกิดจากการนำคำว่า นวตา (อ่านว่า นะ-วะ-ตา) ซึ่งแปลว่า ความใหม่ กับคำว่า กรฺม (อ่านว่า กัร-มะ) ซึ่งแปลว่า การกระทำ มาเข้าสมาสกัน แล้วใช้ในความหมายว่า การซ่อมใหม่ การซ่อมแซม เช่น นวัตกรรมในการศึกษา หมายถึง การปรับปรุงแก้ไขระบบการศึกษา

ปัจจุบัน คำว่า นวัตกรรม มีความหมายกว้างขึ้น หมายถึง สิ่งที่ทำขึ้นใหม่หรือแปลกจากเดิมซึ่งอาจจะเป็นความคิด วิธีการ หรืออุปกรณ์ เป็นต้น เช่น การใช้อินเทอร์เน็ตประกอบการสอน ถือเป็นนวัตกรรมทางการศึกษา

ปัจจุบันสิ่งที่ส่งเสริมให้คำว่า นวัตกรรมเป็นกระแสโด่งดังขึ้นมาก็คือ การนำเอานวัตกรรมไปใช้ทางด้านธุรกิจ(Business Innovation) ซึ่งนวัตกรรมเหล่านี้โดยมากจะถูกขับเคลื่อนโดยมีเทคโนโลยี(Technology)เป็นพื้นฐานสำคัญ ทำให้เกิดผลลัพธิ์ทางธุรกิจในแบบที่ไม่เคยมีมาก่อน จากธุรกิจเดิมๆที่เติบโตปีละไม่กี่สิบเปอร์เซ็น กลายเป็นเติบโต 5 เท่าหรือ 10 เท่า เป็นต้น

เอ แล้วมันเป็นไปได้ยังไง แล้วนวัตกรรมไปทำอะไรให้ธุรกิจ ทำไมมันสามารถโตได้แบบนั้น ซึ่งธุรกิจแบบนี้รู้จักกันดีอยู่แล้วในชื่อ สตาร์ทอัพ (Startup)

สตาร์ทอัพ เป็นธุรกิจแบบใหม่ ที่ผลักดันด้วยนวัตกรรม ที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ๆเป็นพื้นฐาน ซึ่งสามารถเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด ระดับ 5 เท่า หรือ 10 เท่า ต่อปี

นวัตกรรมไปทำอะไรให้ธุรกิจ? ถ้ามองลงไปในองค์ประกอบของธุรกิจ จะเห็นว่ามี 2 จุดสำคัญ ที่นวัตกรรม จะทำการเข้าไปปรับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดผลลัพธ์ที่แตกต่าง ได้แก่

  1. รูปแบบโมเดลของธุรกิจ (Business Model) โดยนวัตกรรมจะเข้าไปทำการปรับเปลี่ยนให้ เกิดรูปแบบโมเดลของธุรกิจใหม่ๆ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด
  2. ผลิตภัณฑ์ (Product) โดยนวัตกรรมจะเข้าไปทำการเปลี่ยนแปลงให้ เกิดผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ ตลอดจนถึงกระบวนการที่ได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์นี้ เพื่อเพิ่มโดกาศในการแข่งขัน และโดดเด่นเหนือคู่แข่ง

การเกิดไอเดียใหม่ๆในสตาร์ทอัพ มันสามารถเกิดขึ้นได้กี่แบบ และมีแบบใหนบ้างหล่ะ

1. เกิดจากการประดิษฐ์คิดค้น และสร้างสรรค์ขึ้นมา ในแบบนี้จะเกิดจากการคิดค้นและสร้างสิ่งใหม่ๆขึ้นมา เพื่อแทนที่ของเดิมที่ไร้ประสิทธิภาพ หรือ ยังมีปัญหาบางประการอยู่ และของที่ถูกคิดค้นขึ้นมาใหม่นี้ต้องสร้างผลกระทบได้มากพอจึงจะสามารถนำมาเป็นไอเดียในการทำสตาร์ทอัพได้ เช่น รถยนต์ไฟฟ้าของบริษัทเทสลา โดรนเพื่อใช้ในการเกษตรของบริษัท DJI ของจีน เป็นต้น

2. เกิดจากหลักความเชื่อ และผลักดันให้กลายเป็นจริง ซึ่งมันคือหลักความเชื่อของผู้ก่อตั้งของธุรกิจสตาร์ทอัพนั่นเอง เช่น อีลอนมัส มีความเชื่อว่า “ค่าใช้จ่ายในการยิงจรวดออกนอกโลก ค่าเชื้อเพลิงแค่ 0.3% หากเราสามารถนำจรวดกลับมาใช้ใหม่ได้จะประหยัดถึง 100 เท่า” ซึ่งเป็นแรงผลักดันให้เกิดบริษัท SpaceX

3. เกิดจากการลอกเลียนแบบ และทำให้ดีขึ้นหรือทำให้เหมาะสมกับภูมิภาค เช่น Omise เลียนแบบระบบการจ่ายเงินของ Paypal มาและทำให้เหมาะสมกับการใช้งานของคนไทยและภูมิภาคนี้ หรือ แม้กระทั่ง Ookbee หรือ Wongnai ก็ลอกเลียนแบบการทำงานของ สตาร์ทอัพต่างชาติมา

4. เกิดจากการลองผิดลองถูก ค่อยๆสั่งสมประสบการณ์จนสมบูรณ์ เช่น ร้านขายเสื้อผ้าออนไลน์ SpanX ก็เริ่มจากการออกแบบเสื้อผ้าเอง และค่อยๆนำไปขายในร้านค้าต่างๆ โดยมีการตลาดที่ไม่เหมือนใคร คือ แอบเอาซื้อผ้าตัวเองไปแอบแขวนปนกับแบรนด์ดังๆ จนท้ายสุดเป็นธุรกิจที่โด่งดังได้

5. เกิดจากการแก้ปัญหาที่เกิดซ้ำๆของคนกลุ่มใหญ่ เช่น Uber หรือ Grab แก้ปัญหาในการเรียกใช้บริการแท็กซี่ หรือ Lineman แก้ปัญหาให้คนขี้เกียจออกไปซื้อ/ส่งของเอง เป็นต้น

6. เกิดจากการเปลี่ยนแปลง/ยุบรวมหรือแยกออกจากกัน ของ รูปแบบโมเดลของธุรกิจ หรือ ผลิตภัณฑ์ รายละเอียดของหัวข้อนี้มันจะยาวหน่อย ดูตามด้านล่าง นะครับ

อันดับแรกต้องรู้ก่อนว่ารูปแบบโมเดลของธุรกิจในยุคออนไลน์ หลักๆมีรูปแบบอะไรบ้าง

1. Subscription เป็นรูปแบบการสมัครสมาชิกเพื่อใช้งานผลิตภัณฑ์ หรือบริการ และมีค่าใช้จ่ายเป็นรอบ รายเดือน หรือรายปี ตัวอย่างเช่น Netflix, Apple Music เป็นต้น

2. Freemium เป็นรูปแบบที่ผู้ใช้ทั่วไปสามารถใช้งานผลิตภัณฑ์ หรือบริการได้ฟรี แต่จะถูกจำกัดความสามารถในการใช้งาน หากต้องการใช้งานเต็มความสามารถของผลิตภัณฑ์ หรือบริการ จะต้องมีการจ่ายเงินก่อน ซึ่งมีทั้ง จ่ายครั้งเดียว หรือจ่ายในรูปแบบของ Subscription เป็นรายเดือน หรือรายปี ตัวอย่างเช่น EverNote, Spotify เป็นต้น

3. Free เป็นรูปแบบที่ผู้ใช้ทุกคนใช้งานได้ฟรีเต็มความสามารถของผลิตภัณฑ์ หรือบริการ โดยปกติผลิตภัณฑ์ หรือบริการ จะนำข้อมูลที่ผู้ใช้สร้างขึ้นมา นำไปสร้างรายได้ให้แก่บริษัทอีกต่อนึง ตัวอย่างเช่น Google Search, Facebook, Twitter เป็นต้น

4. Marketplace เป็นรูปแบบการทำตลาดดิจิตอล เพื่อให้คนขายนำของมาวางขายที่ตลาด และคนซื้อเข้ามาซื้อของในตลาด แล้วตลาดก็จะทำการเก็บค่าธรรมเนียมในการซื้อขายนั้นๆ ตัวอย่างเช่น ebay, Lazada, Kaidee เป็นต้น

5. Access-over-Ownership เป็นรูปแบบที่นำสิ่งของต่างๆ เช่น บ้าน รถ หรือ ทรัพย์สิน อื่นๆ ไปให้บุคคลอื่นเช่า ยืมใช้เป็นการชั่วคราว โดยแพลตฟอร์มทีให้บริการแบบนี้จะมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมของแต่ละรายการ ตัวอย่างเช่น Airbnb เป็นต้น

6. Hypermarket เป็นรูปแบบที่ให้บริการผลิตภัณฑ์ หรือบริการนั้นๆ มีอำนาจในตลาดนี้สูงมาก หรือมีลูกค้าในตลาดนี้จำนวนมาก จนสามารถกำหนดทิศทางของตลาดได้ เหนือกว่าคู่แข่งรายอื่นๆ ซึ่งบ่อยๆครั้งที่บริษัทแบบนี้จะใช้กลยุทย์ที่ทำการขายสินค้าราคาต่ำกว่าราคาตลาด เพื่อแย่งลูกค้าจากคู่แข่ง เมื่อควบคุมตลาดได้แล้วจะทำให้ต้นทุนลดต่ำลงอย่างมาก ตัวอย่างบริษัทในกลุ่มนี้เช่น Amazonเป็นต้น

7. Experience เป็นรูปแบบที่ให้ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ได้รับประสบการณ์ที่เหนือกว่า ผลิตภัณฑ์ หรือบริการรายอื่นๆ อย่างชัดเจน จนทำให้มีกลุ่มของสาวกที่ต้องการใช้ และยึดติดกับผลิตภัณฑ์ หรือบริการนี้ ตัวอย่างเช่น Tesla, Apple เป็นต้น

8. Pyramid เป็นรูปแบบที่ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ หรือบริการ จะสรรค์หา และกะเกณฑ์ ผู้ค้ารายย่อย(Re-sellers) หรือ บริษัทในเครือ(Affiliates) เพื่อมาทำการขายผลิตภัณฑ์ หรือบริการนี้ โดยจะมีการจ่ายเป็นส่วนแบ่งเปอร์เซ็น(Commission)ให้ ตัวอย่างเช่น Microsoft, Amazon เป็นต้น

9. On-Demand เป็นรูปแบบที่ผู้ที่ขายผลิตภัณฑ์ หรือบริการนั้น จะได้เงินส่วนแบ่งเปอร์เซ็น(Commission) เพิ่มเติมพิเศษจากผู้ใช้บริการ นอกเหนือจากการจ่ายค่าใช้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการตามปกติ เพื่อให้ได้เวลาที่เร็วกว่า หรือบริการที่ดีกว่าปกติ ตัวอย่างเช่น TaskRabbit เป็นต้น

10. Ecosystem เป็นรูปแบบที่ผู้ที่ขายผลิตภัณฑ์ หรือบริการนั้น ทำให้ผู้ใช้ได้รับประโยชน์จากการใช้งานยิ่งขึ้น หากมีการใช้งานเป็นกลุ่มของผลิตภัณฑ์ หรือบริการ ตัวอย่างเช่น Google, Apple เป็นต้น

อันดับสอง ถัดมาต้องรู้ในส่วนของผลิตภัณฑ์ ว่าการที่นวัตกรรมเข้ามาเปลี่ยนแปลง วงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ให้เราสามารถขายสินค้าได้ ถูกกว่า(Cheaper), คุณภาพดีกว่า(Better quality), การใช้งานเหมาะสมกว่า(Suitable), ปรับเปลี่ยนได้ดีกว่า(Better customization), บริการหลังการขายดีกว่า(Better after sell support), ส่งของได้เร็วกว่า(Deliver faster), ตอบรับความสามารถในอนาคตดีกว่า(Support future)

โดยจงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ที่นวัตกรรมเข้าไปเปลี่ยนแปลง เช่น วงจรการผลิตสินค้า, จัดหาวัตถุดิบ, การตลาด, การขาย, การจัดส่ง ตลอดจนบริการหลังการขาย

ตัวอย่าง เช่น Apple App Store ที่ทำหน้าที่เป็นหน้าร้านให้นักพัฒนา ขายโปรแกรมแก่คนที่ใช้ระบบ IOS ของ iPhone ได้เปลี่ยนรูปแบบการขาย การตลาด รวมถึงการจัดส่งแอพพลิเคชันบน iPhoneไปโดยสิ้นเชิง โดยทุกขั้นตอนจบที่หน้าจอโทรศัพท์ที่เดียว เป็นต้น

จากสิ่งที่กล่าวมาในข้างต้นเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ให้เหนือคู่แข่ง การที่จะเป็นอย่างนั้นได้ต้องทำยังไง หรือมีเทคนิคอะไรบ้าง

1. เทคนิคการลดค่าใช้จ่ายของวงจรธุรกิจ(Optimizing Product Life Cycle) เป็นการปรับโครงสร้างต้นทุนของผลิตภัณฑ์หรือบริการ โดยการสร้างพื้นฐานวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ในรูปแบบใหม่ๆเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง โดยการ
- ใช้ทรัพยากรณ์ร่วมกัน : สตาร์ทอัพจะทำการมองหาพันธมิตรใหม่ๆ ที่มีความต้องการใช้ทรัพยากรณ์ส่วนกลางร่วมกัน และหลีกเลี่ยงการลงทุนที่ซ้ำซ้อนระหว่างกลุ่มบริษัทพันธมิตร
- ใช้ทรัพยากรณ์หรือระบบตามมาตรฐานที่มีอยู่แล้ว : นำทรัพยากรณ์หรือระบบตามมาตรฐานต่างๆ ที่มีอยู่แล้วนำเข้ามาใช้เพื่อลดต้นลดค่าใช้จ่ายในการศึกษาวิจัย และจัดสร้างทรัพยากรณ์หรือระบบนั้นๆ
- ปรับให้ระบบทำงานอัตโนมัติ : ปรับกระบวนการทำงานให้เป็นแบบมัตโนมัติ เพื่อลดขั้นตอนในการทำงาน รวมถึงลดข้อผิดพลาดที่จะเกิดจากคนทำอีกด้วย

2. เทคนิคกระจายผลประโยชน์(Benefit Redistribution) ด้วยเทคโนโลยี และคู่ค้ารูปแบบใหม่ๆ จะทำให้องค์กรฉีกหนีแนวทางเดิมๆ และกระจายผลประโยช์ไปในส่วนต่างๆทั่วทั้งระบบนิเวศน์ของธุรกิจ เมื่อทุกๆภาคส่วนของธุรกิจมีผลประโยชน์ก็จะส่งเสริมให้ภาพรวมธุรกิจแข็งแกร่งและขยายตัวขึ้นด้วย
- ปรับเปลี่ยนโครงสร้างผลประโยชน์ : ทำการตัดคนกลางดั้งเดิม และหาพันธมิตรทางธุรกิจที่เป็นคนที่ติดต่อลูกค้าโดยตรง เพื่อลดการสูญเสียผลประโยชน์ไปกับคนกลาง และทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้าได้ใกล้ชิดขึ้น
- ปรับเปลี่ยนการขายข้ามสายผลิตภัณฑ์หรือบริการ : เทคโนโลยีทำให้สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้ได้รวดเร็ว และแม่นยำขึ้น ซึ่งทำให้สามารถเสนอขายผลิตภัณฑ์หรือ บริการ ข้ามสายผลิตภัณฑ์นั้นในรูปแบบใหม่ๆได้ รวมถึงข้ามไปยังสายผลิตภัณฑ์ของพันธมิตรเราได้ด้วย
- ใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ : เทคโนโลยีทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการแบบใหม่ๆ ที่สามารถนำมาเชื่อมโยงกัน เป็นกลุ่มของผลิตภัณฑ์หรือบริการ ได้หลากหลายรูปแบบ ซึ่งทำให้เกิดคุณค่าต่อผู้บริโภคมากขึ้น เมื่อใช้กลุ่มของผลิตภัณฑ์นั้นๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ของพันธมิตรของเราด้วย

3. เทคนิคสร้างประสบการณ์ความเป็นเจ้าของธุรกิจให้แก่พันธมิตร(Business Owner Experience) ความสำเร็จของเทคนิคนี้จะขึ้นอยู่กับพันธมิตรที่ติดต่อกับลูกค้าโดยตรง โดยเราจะเป็นคนกลางให้บริการแก่พันธมิตรให้มีความสามารถเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการ แก่ลูกค้าได้โดยตรงอย่างมีประสิทธิภาพ
- ให้โอกาสสร้างแบรนด์ : ให้ความเป็นเจ้าของแบรนด์แก่พันธมิตร เสนอโอกาศ และช่องทางให้สามารถเติบโตไปกับแบรนด์ของเค้าเองได้
- จัดการผลิตภัณฑ์ได้เอง : ทำให้พันธมิตรสามารถกำหนดการช่องทางการจัดจำหน่ายของผลิตภัณฑ์ และกำหนดวิธีการที่ลูกค้าเข้าถึงผลิตภัณฑ์ได้ และลูกค้าสามารถบอกต่อๆกันได้เพื่อสร้างกระแสของผลิตภัณฑ์ได้
- จัดการข้อมูลได้เอง : ข้อมูลของพันธมิตร และลูกค้าที่วิ่งในระบบทั้งหมด จะช่วยให้สามารถรวบรวมข้อมูลทั่วทั้งระบบนิเวศน์ของผลิตภัณฑ์ หรือบริการได้ครบถ้วน ซึ่งข้อมูลที่มีคุณค่าเหล่านี้มาสารถนำมาวิเคราะห์ เพื่อสร้างคุณค่าแก่พันธมิตรได้อย่างมหาสาร

4. เทคนิคใช้เทคโนโลยีแพลตฟอร์มผลักดันธุรกิจ(Platform Rising) เทคโนโลยีแพลตฟอร์มช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงานทางธุรกิจภายนอกอื่นๆ ได้จากช่องทางการเชื่อมต่อมาตรฐาน ซึ่งจะกลายเป็นรูปแบบมาตรฐานที่สำคัญสำหรับการให้บริการทางธุรกิจ
- แพลตฟอร์มการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์แบบ B2C (Business to Consumer): การจำหน่ายสินค้าปลีกจะเกิดขึ้นโดยอาศัยแพลตฟอร์มดิจิตอล โดยที่ลูกค้าจะมีความสามารถในการเลือกค้นหาและเปรียบเทียบสินค้า จากผู้ให้บริการหลายๆราย
- ส่วนประกอบของแพลตฟอร์ม : แพลตฟอร์มจะประกอบไปด้วยส่วนประกอบของแพลตฟอร์มย่อยๆ หลายๆตัวที่รองรับความต้องการทางธุรกิจที่เฉพาะเจาะจง และเมื่อผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น แพลตฟอร์มย่อยๆเหล่านี้ก็จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการทางธุรกิจ จนกลายเป็นช่องทางหลักในการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์หรือบริการ
- แพลตฟอร์มการรวมข้อมูล : แพลตฟอร์มทำการรวบรวมข้อมูลลูกค้าจากหน่วยงานธุรกิจภายนอกต่างๆ จะเพิ่มจำนวนและขอบเขต การเข้าถึงทุกภาคส่วน และช่วยให้ลูกค้าควบคุมข้อมูลของพวกเขาได้สะดวกขึ้น

5. เทคนิคการสร้างรายได้จากข้อมูล(Data Monetization) ข้อมูลจะมีความสำคัญมากขึ้น หากมีการไหลของข้อมูลจากหลายแหล่งมารวมกัน หลังจากนั้นเราสามารถทำการสร้างรายได้จากข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- เก็บข้อมูลเรียลไทม์ : สตาร์ทอัพกำลังเริ่มเก็บข้อมูลเรียลไทม์เพื่อใช้ประโยชน์ในการวิเคราะห์ขั้นสูง เพราะปกติแล้วกลุ่มลูกค้าเป้าหมายจะทำการเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขา(และความต้องการ) เมื่อเวลาผ่านไป
- ผลักดันการเก็บข้อมูลด้วยประสบการณ์การใช้งานระบบแบบใหม่ๆ : เพื่อที่จะขยายความสามารถในการเก็บข้อมูลลูกค้าและรวบรวมข้อมูลใหม่ๆ สตาร์ทอัพจะทำการออกแบบประสบการณ์การใช้งานบนระบบดิจิตอลใหม่ๆ (digital experience) ที่จะนำเสนอประโยชน์แก่ลูกค้ามากขึ้น ทำให้ลูกค้ามีส่วนร่วมมากขึ้น
- หุ้นส่วนข้อมูล : เป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่นๆ เพื่อวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยน และเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มขึ้น โดยจะช่วยให้สตาร์ทอัพสามารถรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติมได้มากขึ้น

6. เทคนิคใช้พนักงานดิจิตอลทำงานแทนคน(Bionic Workforce) : เป็นการนำระบบที่ชาญฉลาด และเทคโนโลยีสมองกลที่มีประสิทธิภาพสูง มาใช้ทำงานแทนคนในงานหลายๆ ประเภท ได้แก่
- ระบบหน้าบ้านสมองกล (Front‐End AI) : เป็นช่องทางติดต่อสาธารณะที่ลูกค้ามีปฏิสัมพันธ์กับสตาร์ทอัพ โดยช่องทางนี้จะใช้ระบบสมองกลเข้ามาช่วยลูกค้าในการใช้งาน และแนะนำ ช่วยเหลือลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- ทำงานร่วมกับสมองกล (AI) : เป็นรูปแบบที่มนุษย์และคอมพิวเตอร์สมองกลทำงานร่วมกันจะมี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพเป็นเท่าทวี เมื่อเทียบกับมนุษย์หรือคอมพิวเตอร์สมองกล ทำงานคนเดียว
- ชุดของความสามารถ : เนื่องจากพนักงานขององค์กรเปลี่ยนจากมนุษย์ เป็น มนุษย์+คอมพิวเตอร์สมองกล ความเป็นผู้นำจะเปลี่ยนโฟกัสจากการจัดการทีมของคนในทีม มาเป็นการจัดการชุดของความสามารถของคอมพิวเตอร์สมองกล

7. เทคนิคการให้บริการแบ่งตามภูมิภาค(Regionalization Product) การแบ่งลำดับความสำคัญด้านกฎระเบียบ และความต้องการของลูกค้าจะทำให้ผลิตภัณฑ์ หรือบริการในภูมิภาคต่างๆของโลกแตกต่างกันไป เช่น
- ในยุโรป (Europe) : แรงกระตุ้นด้านกฎระเบียบที่เข้มงวด สำหรับข้อมูลแบบเปิดและการคุ้มครองผู้บริโภค ผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศของแพลตฟอร์ม ทำให้คนทำสตาร์ทอัพมีความกดดันเพิ่มขึ้น
- ในจีน (China) : มีระบบนิเวศน์การเชื่อมต่อบนมือถือมีขนาดใหญ่ สตาร์ทอัพพยายามนำเสนอการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อจับส่วนแบ่งทางการตลาดที่สำคัญ
- ในสหรัฐ (USA) : ทิศทางการกำกับดูแลไม่ชัดเจน อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการรายหลักๆ มีระบบนิเวศและลูกค้าที่ให้บริการอย่างดี

สุดท้ายนี้หวังว่าผู้อ่านจะใช้ข้อมูลในบทความนี้ จุดประกายทำให้เกิดไอเดียในการสร้าง หรือปรับเปลี่ยนธุรกิจสตาร์ทอัพ ของท่านเองได้ ซึ่งนำไปสู่การเกิดสตาร์ทอัพรายใหม่ๆ ของประเทศไทยได้ ผู้เขียนจักรู้สึกยินดีเป็นอย่างมาก

ขอบคุณที่ติดตามอ่าน นะครับ

ดูบทความอื่นๆ กดลิ้งค์เลยครับ

--

--

DINOQ Co.,Ltd

ไดโนคิวแพลตฟอร์ม คือแพลตฟอร์มเครื่องมือการพัฒนา และบริหารจัดการแอพแบบครบวงจร ลดงาน ลดขั้นตอน และลดคนในกระบวนการพัฒนาสูงสุดถึง 90% เร็วขึ้น ง่ายขึ้นสูงสุดถึง 90%